บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

พุทธคุณ – สัมมาสัมพุทโธ

ในบทความ “พุทธคุณ – อรหัง ผมได้เสนอคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำเกี่ยวกับความหมายของ “อรหัง” ในบทสวดอิติปิโส ภควาฯ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมนิดหน่อยไปแล้ว

ในบทความนี้ มาฟังคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” ในบทสวดสรรเสริญพุทธคุณต่อไป

ในบทความชุดนี้ ผมจะนำเนื้อหาของหลวงพ่อวัดปากน้ำลงไปเป็นส่วนๆ ถ้าจะมีคำอธิบายเพิ่มเติม ผมจะพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีดำ  ส่วนเนื้อหาของหลวงพ่อวัดปากน้ำจะเป็นตัวอักษรสีน้ำเงิน

สมฺมาสมฺพุทฺโธ แปล ตามศัพท์ว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ หรือนัยหนึ่งว่า ตรัสรู้เองโดยถูกต้อง หรือพูดให้สั้นก็ว่า รู้ถูกเอง เพื่อให้ใกล้กับภาษาสามัญที่ใช้กันว่า รู้ผิดรู้ถูก ได้แก่ คำที่พูดติเตียนคนที่ทำอะไรผิดพลาดไปว่า เป็นคนไม่รู้ถูกรู้ผิดทำไปอย่างโง่ๆ ดังนี้เป็นต้น

แต่แท้จริง พุทโธคำนี้ เมื่อพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปตามรูปศัพท์แล้วมีความหมายลึกซึ้งมากต่างกันไกลกับคำว่า ชานะหรือวิชานะ ซึ่งแปลว่า รู้แจ้ง นั้น

ดังนั้น พุทโธ จึงได้แปลกันว่า ตรัสรู้ไม่ใช่รู้เฉยๆ เติมคำว่าตรัสนำหน้า รู้ซึ่งสะกิดให้สนใจว่า รู้กับ ตรัสรู้๒ คำนี้ มีความหมายลึกตื้นกว่ากันแน่โดยมิสงสัย

เมื่อระลึกถึงพระบาลีในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรที่ว่า จกฺขุ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชาอุทปาทิ อาโลโกฯ

จึงทำให้แลเห็นความว่า คุณวิเศษทั้ง ๕ อย่างดังบาลีขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นความหมายแห่งคำว่า พุทโธ กล่าวคือ จกฺขุ ญาณํ ปญฺญา วิชฺชา อาโลโก ทั้ง ๕ อย่างนี้ประมวลเข้าด้วยกันรวมเป็นคำแปลของคำว่า พุทโธ

หรือจะแปลให้สั้นเข้าอีกคำว่า พุทโธ ก็ยังต้องแปลว่า ทั้งรู้ทั้งเห็น ไม่ใช่รู้เฉยๆ อาศัยคำว่า จกฺขุญาณํ ในบาลีที่ยกขึ้นกล่าวมานั้นเป็นเครื่องประกอบ

ยิ่งกว่านั้นยังมีคำว่า ชานตา ปสฺสตาฯ ในมหาสติปัฏฐานสูตรอยู่อีก ซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนว่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นไม่ใช่รู้เฉยๆ เป็น ทั้งรู้ทั้งเห็น

ที่ว่า เห็นนั้นมิได้หมายความว่า เห็นอย่างตาเราเห็นอะไรจริงๆ แต่ พระองค์เห็นด้วยตาธรรมกาย และการที่พระองค์เห็นนี้ โดยมิได้มีผู้ใดสอนให้รู้สอนให้เห็น  รู้เห็นโดยลำพังพระองค์เอง

และสิ่งทั้งหลายที่พระองค์รู้เห็นนั้นตรงตามความเป็นจริงทั้งนั้น มิใช่คาดคะเนหรืออนุมานเอาจึงเป็นองค์ สัมมาสัมพุทโธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

หรือนัยหนึ่งว่า โดยถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทุกประการจึงได้ชื่อว่า ตรัสรู้ยังมีคำว่า สัมนำหน้า พุทธะเติมเข้ามาอีกคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า ด้วยพระองค์เองคือไม่ต้องมีผู้สั่งสอน

พระองค์ทำอย่างไร จึงตรัสรู้ด้วยพระองค์เองเช่นนั้น ข้อนี้ตอบไม่ยาก พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองได้ ก็เพราะความเป็น อรหํของพระองค์ดังกล่าวข้างต้นแล้วนั่นเอง

คือ เมื่ออำนาจสมาธิทำให้จิตของพระองค์หลุดพ้นจากอาสวะแล้ว จิตของพระองค์ก็ใสยิ่ง หยุด และบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะหยุดนิ่งนั่นเอง จึงมีสิ่งหนึ่งผุดขึ้นในนิ่ง ทำให้รู้พระองค์ก็รู้ตามนั้นไป

น้ำขุ่น แม้อิฐสักก้อนหนึ่งอยู่ก้นโอ่ง เราก็มองไม่เห็น แต่ถ้าน้ำนั้น นอนนิ่งใสบริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เข็มอยู่ก้นโอ่งเราก็เห็นฉันใดก็ฉันนั้น

ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมตามหลักปรัชญานิดหนึ่ง 

ในยุควิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก แยกส่วน ลดทอนของนิวตัน ไม่ยอมรับว่า จะมีความรู้ที่ผุดบังเกิด (emergence) ขึ้นมาดื้อๆ [Emergence ประเด็นนี้มีทฤษฎีรองรับคือ ทฤษฎีผุดบังเกิด : Emergence]

อีกประเด็น คือ การหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นในใจ (intuition) การรู้โดยสัญชาตญาณ, การรู้โดยความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองในใจ, การหยั่งรู้ความเข้าใจอันซาบซึ้ง, ความสามารถในการเข้าใจโดยสัญชาตญาณ,

ความรู้ทั้ง 2 ประการนั้น วิทยาศาสตร์เก่าไม่เชื่อ เพราะ ไม่ได้เป็นไประบบตรรกวิทยา อยู่ดีๆ ความรู้จะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร 

แต่ในปัจจุบันนี้ แวดวงวิชาการยอมรับว่า ความรู้แบบผุดบังเกิดกับความรู้แบบการหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นในใจ เป็นความจริง

คนทั่วๆ ไปก็มีความรู้ประเภทนี้ได้ ไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนั้น ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ชั้นชั้นต่ำ เช่น รา เป็นต้น ก็มีความรู้เช่นนี้ได้เช่นกัน 

ทฤษฎีผุดบังเกิด (Emergence) พัฒนามาจากพฤติกรรมของสัตว์ เช่น ราเมือก ผึ้ง มด เป็นต้น

ยังมีคำว่า สัมมานำหน้า สัมพุทโธอีกคำหนึ่ง คำว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบหรือ โดยถูกต้อง พระองค์ตรัสรู้อะไรมีเหตุผลยันกันได้เสมอ จึงได้ชื่อว่า ถูกต้อง เพราะการพูดอะไรไม่มีเหตุผลรับสมหรือยันกันได้แล้ว ตามหลักธรรมดาเรียกว่าไม่ถูก

ต้องมีเหตุผลรับสมกัน จึงจะนับว่า ถูกพระสัทธรรม  คำสอนของพระองค์มีเหตุผลรับสมกันอยู่เสมอ ไม่คลาดเคลื่อน จึงสมควรแล้วที่ได้พระเนมิตกนามว่า สัมมา

พระพุทธวจนะที่ควรนำมาสาธกในที่นี้ว่า แต่โดยสั้นๆ ก็ว่า พระองค์ตรัสรู้เหตุ ตรัสรู้ผลไม่ใช่รู้แต่เหตุ หรือรู้แต่ผล

พระองค์ตรัสรู้ทั้งเหตุตรัสรู้ทั้งผล ที่ว่านี้คืออะไร?

เหตุสุข เหตุทุกข์ เหตุไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเรียกว่า อัพยากฤตคือสภาพเป็นกลางๆ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นรากฐานแห่งการตรัสรู้ของพระองค์

กล่าวคือ สุขพระองค์ก็ไม่ทรงรู้แต่สุขเฉยๆ ตรัสรู้ลึกซึ้งเข้าไปถึงว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดสุขด้วย แล้วอีก ๒ ประการนั้นก็เช่นเดียวกันรู้ทั้งเหตุรู้ทั้งผลคู่กันไป เป็นต้นว่า สุขเป็นผลคือ ความสบายกายสบายใจ

อะไรเล่าเป็นเหตุที่ให้เกิดผลคือ สุขดังกล่าวนั้น พระองค์ตรัสไว้ว่า อโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ๓ ประการนี้แหละเป็นเหตุ

ดังมีบาลีเป็นที่ยืนยันว่า กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา เป็นอาทิ โลภ โกรธ หลง เป็นฝ่ายอกุศลตรัสว่า เป็นเหตุแห่งทุกข์ เราปุถุชนมักรู้กัน แต่ผลสาวหาเหตุไม่ใคร่ถึง

เช่น คนทำโจรกรรมแล้วไปต้องโทษ อย่างมากที่รู้กันทั่วไปมักอยู่ในขั้นหยาบๆ ว่า ผลที่ต้องได้รับทุกข์คือการต้องโทษนั้น เนื่องมาจากโจรกรรม

แต่แท้จริงเหตุเท่านั้นยังไม่พอต้องสาวเข้าไปอีก ทำไมเขาจึงทำโจรกรรมก็จะได้ความว่า เพราะ โลภะเป็นมูลเหตุ

แต่ก็ยังไม่พอต้องสาวเข้าไปอีกว่า ทำไม่โลภะจึงครอบงำ เขาได้ก็จะได้ความว่า จิตใจของเขาสกปรก ทำไมจิตใจของเขาจึงสกปรก

จึงได้เหตุว่า เพราะเขาไม่ประพฤติตามโอวาทพระบรมศาสดา อย่างน้อยก็เป็นคนทุศีลอทินนาทาน ขาดไปเสียองค์หนึ่งแล้ว เหตุใดเขาจึงเป็นคนทุศีลก็จะได้ความว่า เขาไม่รู้เรื่องศีล หรือรู้แล้วไม่นำพา

ทำไมจึงไม่รู้เรื่องศีล ก็อาจเป็นเพราะเหตุที่ เขาไม่เคยอ่านหนังสือทางพระพุทธศาสนาหรือสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาฯลฯดังนี้ เป็นต้น

พระองค์ทรงสอนไว้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ให้รู้เท่าถึงเหตุผล รู้ว่าผลนี้เกิดจากเหตุใด พระองค์มีแนวสอนให้ปฏิบัติ เพื่อละเหตุที่ให้เกิดทุกข์บำเพ็ญ เหตุที่ให้เกิดสุข ตลอดจนวิถีทางดับเหตุทั้งปวงซึ่งเรียกว่า นิโรธ

……………………………………………………………………………………….

ทรงสอนว่า ก่อนจะพูดคิด หรือทำสิ่งใด จงมีสติหรือที่เรียกว่า ใช้ความคิดให้รอบคอบเสียก่อนจึงพูดจึงคิด จึงทำการนั้นๆ แลว่า โดยเฉพาะจงระวังเรื่อง โลภะโทสะโมหะนั้นไว้อย่าให้เข้าครอบงำได้ในเมื่อจะทำพูดคิดการสิ่งใด

พระองค์ทรงสอนไว้ในทางปรมัตถ์ว่า ธรรมดาจิตนั้นใสบริสุทธิ์อยู่เสมอ ซึ่งหมายความว่า จิตที่ไม่มีกิเลสผสม ส่วนพวกกิเลส เช่น โลภะฯ เรียกว่า เป็นของจรมา

เมื่อมาพ้องพานจิตก็ย้อมจิตให้เป็นไป ตามสภาพอันชั่วช้าของกิเลสนั้นๆ จิตระคนด้วยราคะ หรือโลภะ มีสีแดง ระคนด้วยโทสะ สีดำ ระคนด้วยโมหะ ขุ่นเหมือนตมหรือน้ำล้างเนื้อ

สิ่งเหล่านี้ พระองค์ใช้ตาธรรมกายมองเห็นจริงๆ

พวกเราเหล่าศาสนิกชน เมื่อเรียนภาวนาเพ่งถึงขนาดจะเห็นจริงด้วยตนเอง การปฏิบัติกิจทางภาวนานั้นก็คือ พยายามกลั่นเอากิเลสออกเสียจากจิตให้จิตใจบริสุทธิ์ อันได้ชื่อว่า กิริยาจิต กิริยาจิตเช่นนี้เป็นอัพยากฤต แล้วต่อนั้นไปจะเป็นจิตที่ควรแก่การทุกอย่าง

พระธรรมเทศนาของพระองค์ เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ หนักไปในทางแสดงเหตุและการดับเหตุหรือที่เรียกว่า สมุทัยกับนิโรธ ดังเช่น ในการให้พิจารณาเรื่องสังขารในด้านสมุทัยว่า อวิชชา ปัจจยาสังขาราฯ และในด้านนิโรธว่า อวิชชา เตฺววาอเสส วิราค นิโรธา

ในด้านสมุทัยนั้น แปลความเป็นสยามภาษาว่า

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนาม
รูปนามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ๖
อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
ชาติเป็นปัจจัยให้มี ความแก่ ความตายและความเศร้าโศกต่างๆ

สิ่งเหล่านี้จะดับได้ก็เพราะดับชาติ ชาติดับได้ก็เพราะดับภพ ภพจะดับได้เพราะอุปาทานดับ อุปาทานจะดับได้เพราะ ตัณหาดับ ตัณหาจะดับได้ก็เพราะเวทนาดับ เวทนาดับได้เพราะผัสสะดับ  ผัสสะจะดับได้ก็ต่อเมื่ออายตนะดับ  อายตนจะดับได้ต่อเมื่อนามรูปดับ  นามรูปจะดับได้ต่อ เมื่อวิญญาณดับ  วิญญาณจะดับได้ต่อเมื่อสังขารดับ  สังขารจะดับลงก็เพราะอวิชชาดับ

เหตุผลเกิดดับเกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่เช่นนี้เรียกว่า ปัจจยาการ ที่พระองค์ได้รู้แจ้งแทงตลอดในวันตรัสรู้นั้น ทั้งสิ้นพิจารณาตามลำดับดังที่ยกขึ้นกล่าวมาข้างต้น

เมื่อย่นให้ได้ความเข้าใจอันจะเป็นผลในทางปฏิบัติแล้ว ก็มีตัวสำคัญอันเดียวคือ อวิชชา เป็นมูลรากฝ่ายเกิดหรือที่เรียกว่า สมุทัย และในทางดับหรือที่เรียกว่า นิโรธ ก็ทำนองเดียวกัน

อวิชชา เท่านั้นเป็นตัวการสำคัญ ถ้าดับอวิชชาได้อย่างเดียวอื่นๆ ดับเรียบหมดเพราะอวิชชาเหมือนต้นไฟ แต่ถ้ายังดับอวิชชาไม่ได้แล้ว ก็ไม่มีหวังว่า อย่างอื่นจะดับได้

ที่หมายสำคัญในคำสอนของพระองค์จึงอยู่ที่ว่า ให้ผู้ปฏิบัติเพียรหาทางกำจัดอวิชชาเสียจึงจะพ้นจากห้วงลึกคือวัฏฏะสงสารได้

อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ในขณะเมื่อแสงทองเรื่อเรืองแข่งแสงเงินขึ้นมายังขอบฟ้า เบื้องบูรพาอันเป็นสัญญาณว่า ดวงอาทิตย์เตรียมทำหน้าที่จะส่องโลกอยู่แล้ว เป็นเวลาที่อากาศยะเยือกเย็นสดชื่น

ส่งใจเราหวนไประลึกถึงเวลารุ่งอรุณแห่งวันเพ็ญวิสาขมาสอันเป็นวันที่พระบรมโลกนาถอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น

เราจะแลเห็นโอภาสรัศมีอันรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าแสงทองนั้นร้อยเท่าพันทวี ช่วงโชติอยู่ภายใต้โพธิพฤกษ์อันมหาศาลใบเขียวชอุ่ม

รับกับรัศมีอันเหลืองอร่ามอยู่ภายใต้นั้น ในใจกลางแห่งรัศมีอันช่วงโชติชัชวาลอยู่นั้น มิใช่อื่นไกล คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ประทับพริ้มอยู่ด้วยพระอาการชื่นบานพระหฤทัย ที่ได้เสวยวิมุตติสุข

อันเป็นผลแห่งการที่พระองค์ได้ทรงประกอบพระมหาปธานวิริยะมาเป็นเวลาช้านาน จึงได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สมดังพระหฤทัยประสงค์

พระองค์จึงทรงเปล่งพระอุทานเย้ยตัณหาว่า อเนกชาติสํสารํ ดังที่ได้ยกขึ้นกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ซึ่งแปลใจความเป็นสยามภาษาว่า

เราสืบเสาะหาตัวช่างไม้ผู้สร้างปราสาทมานานแล้ว เมื่อเรายังหาไม่พบเราต้องท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร เวียนตายเวียนเกิดอยู่แทบจะนับชาติไม่ถ้วน การเกิดนำความทุกข์มาให้เราแล้วๆ เล่าๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น นี่แน่ะ ท่านนายช่างไม้ กล่าวคือตัณหา บัดนี้เราเจอะตัวท่านแล้วละ ท่านหมดโอกาสที่จะมาสร้างปราสาทคือ อัตตภาพร่างกายเราต่อไปได้อีกแล้ว กระดูกซี่โครงท่าน กล่าวคือ กิเลสเราหักเสียกรอบหมดแล้ว

มิหนำซ้ำยอดปราสาท กล่าวคือ อวิชชา เราก็รื้อทำลายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว


พระอุทานนั้น มีข้อความเป็นบุคคลาธิษฐานสั้นๆ แต่มีอรรถรสลึกซึ้งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่แปล คหกูฏํ ว่ายอดปราสาทก็เพื่อความเหมาะสมที่พระองค์เป็นกษัตริย์ เพราะบ้านเรือนของพระมหากษัตริย์เรียกกันว่า ปราสาทราชฐาน พระอุทานนั้น มีข้อความชัดเจนแล้วมิจำต้องอธิบาย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น