หน้าเว็บ

พุทธคุณ – โลกวิทู [1]

ในบทความนี้ มาฟังคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “โลกวิทู” .ในบทสวดสรรเสริญพุทธคุณต่อไป

โลกวิทู แปลว่า รู้แจ้งซึ่งโลก  โลกแบ่งออกเป็น ๓ คือ สังขารโลก สัตว์โลก โอกาสโลก

โลกทั้ง ๓ นี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงรู้แจ้งหมด  รู้ถึงความเป็นไปของโลกเหล่านี้โดยละเอียดด้วย  จึงได้พระนามว่า โลกวิทู

คำว่า โลก หมายความว่า เป็นที่ก่อแห่งสัตว์ หรือนัยหนึ่งว่า เป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์  ซึ่งว่าเป็นที่ก่อแห่งสัตว์ ก็คือเป็นที่เกิดที่อยู่แห่งสัตว์  ที่ว่าเป็นที่ก่อผลแห่งสัตว์ ก็คือ เป็นที่ซึ่งสัตว์ได้อาศัยก่อกุศลและอกุศล

ว่าโดยเฉพาะโลกมนุษย์เป็นที่มนุษย์อาศัยสร้างบุญ  แล้วก็ได้ผลไปบังเกิดในสวรรค์  หรือบำเพ็ญบารมีแล้วส่งผลไปสู่นิพพาน  ดั่งเช่นองค์สมเด็จพระศาสดา  ถ้าสร้างบาปแล้วก็เป็นผลให้ไปเกิดในนรก

สังขารโลก คือ โลกที่มีอาหารเป็นปัจจัยแต่งได้แก่คำว่า อาหารฏฺฐิติกา  สัตว์อยู่ได้เพราะอาหารปรนปรือ  อาหาร แปลว่า ประมวลมาหรือเครื่องปรนปรือ  และแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ ๑ กวลิงการาหาร ๒ ผัสสาหาร ๓ มโนสัญเจตนาหาร ๔ วิญญาณาหาร

ตรงขอให้ทำความเข้าใจให้ดี เพราะ ภาษาไทยจะเป็นตัวขัดขวางความรู้  คำว่า “อาหาร” ที่เราพบเจออยู่ทุกวันนั้น มันเป็น “สิ่ง” ที่กินเข้าไป หรือ ดูดซึมเข้าไป เช่น พืช เป็นต้น

คำว่า “อาหาร” ของพระไตรปิฏกนั้น มีความหมายมากกว่านั้น ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดีๆ ก็จะอ่านไม่รู้เรื่อง

กวลิงการาหาร  หมายความว่า อาหารที่เป็นคำๆ เช่นคำข้าว ส่วนละเอียดของอาหาร คือ โอชะ หรือที่เรียกกันอย่างใหม่ๆ ว่าวิตามินนั้น เข้าไปปรนปรือร่างกาย  จึงเป็นปัจจัยให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้ 

สัตว์ทั้งหลายมีอาหารหยาบมากและละเอียดต่างกันเป็นพวกๆ เช่น จระเข้กินอาหารหยาบมาก  แม้ก้อนหินหรือสัตว์ตัวใหญ่ๆ แต่แล้วก็มีโอชะไปหล่อเลี้ยงร่างกายมันได้

นกยูงกินแมลงต่างๆ ทั้งตัว  สุนัขไนแทะกินกระดูกสัตว์ที่แข็งๆ ช้างม้าโคกระบือกินหญ้าและใบไม้ของหยาบๆ ก็มีโอชะไปหล่อเลี้ยงร่างกายมันได้ 

มนุษย์กินอาหารละเอียดกว่าสัตว์ที่กล่าวมาเป็นชั้นๆ เช่น ราษฎรสามัญกินหยาบกว่าพระมหากษัตริย์ 

พวกเทวดากินอาหารละเอียดกว่ามนุษย์  อย่างที่เรียกว่าทิพย์ ก็คือ โอชะส่วนละเอียดของอาหาร พวกพรหมละเอียดยิ่งกว่าเทวดาอีก  มีจักรพรรดิคอยปรนปรือ

แม้เลยชั้นรูปพรหม อรูปพรหมขึ้นไป คือถึงชั้นนิพพาน  ก็มีอาหารส่วนละเอียดไปหล่อเลี้ยงเช่นเดียวกัน 

อาหารละเอียดเป็นที่สุด แต่อยู่นอกโลก นี่เป็นการสาวหาเหตุผลประกอบเป็นลำดับชั้นไป  มิใช่ตำรับตำราโดยตรง

แม้ในพวกเทวดากันเอง ก็มีอาหารละเอียดต่างกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป  ภุมเทวดามีอาหารหยาบกว่าพวกเทวดาอื่น  ถัดขึ้นไปชั้นยามาและอื่นๆ  ละเอียดยิ่งกว่ากันขึ้นไปทุกชั้น 

การกินอาหารของพวกเทวดา มีอาการเหมือนเราฝัน  แล้วก็มีความอิ่มเอิบไปตามระยะเวลา  แต่ระยะเวลานานกว่ามนุษย์ต่างกันเป็นลำดับขึ้นไป

อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูป มีโอชะเป็นคำรบ ๘ รูป ปฐวี อาโป เตโช วาโย วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา ซึ่งเรียกว่า กลาปรูป คือ รูปเกิดจากอาหารเป็นคำๆ นี้จำพวก กวลิงการาหาร

จะเห็นว่า คำว่าอาหารในภาษาไทยของเรา ตรงกับ “กวลิงการาหาร” ในพรไตรปิฎก

ผัสสาหาร  ได้แก่ ผัสสะทั้ง ๖ ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ แปลว่า ความกระทบ เช่นเมื่อรูปมากระทบตาก็เกิดขึ้นเรียกว่า จักขุสัมผัส อีก ๕ อย่างก็เช่นกัน 

ผัสสะนี้ เป็นอาหารเพราะประมวลให้เกิดเวทนา หรือปรนปรือให้เกิดเวทนา ๓

ผัสสะที่เกิดจากกระทบอารมณ์ที่ดี ก็ให้เกิดสุขเวทนา กระทบอารมณ์ชั่ว ก็ให้เกิดทุกขเวทนา  อารมณ์ไม่ดีไม่ชั่ว ก็ให้เกิดอุเบกขาเวทนา 

ดังเช่นพระสารีบุตรยืนกั้นร่มให้พระศาสนาได้เป็นเวลา ๗ วัน โดยไม่หิวโหย ก็เพราะผัสสาหารอย่างนี้

สัตว์นรกดำรงชีพรับเคราะห์กรรมอยู่ได้ก็เพราะผัสสาหารทางชั่ว  คนนอนหลับอยู่ได้ก็ด้วยผัสสะชนิดให้เกิดอุเบกขาเวทนา

คำสอนของพระไตรปิฎกที่เผยแพร่อยู่ในปัจจุบันนี้ มีการสอนผิดอยู่มากมายมหาศาล แต่ส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีใครรู้ เพราะ พุทธศาสนิกชนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อย “ตั้งคำถาม” หรือ “คิดแย้ง” กัน  เขาสอนมาอย่างไร ก็เชื่อไปอย่างนั้น

การสอนเรื่องกรรมก็ผิด คือ ส่วนใหญ่จะสอนกันว่า กรรมมี 2 ประเภท คือ กรรมดีกับกรรมชั่ว  กรรมคือ การกระทำ  ดังนั้น การกระทำของเราก็แบ่งออกเป็น 2 อย่างเท่านั้นคือ การกระทำที่ดี กับ การกระทำที่ชั่ว

แต่การกระทำของเราจำนวนมากเลย ไม่ใช่การกระทำที่ดี กับ การกระทำที่ชั่ว เช่น นั่งเล่นเฉยๆ คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป  การเดินเล่นตอนเย็นๆ หรือยกตัวอย่างให้สุดกู่เลยก็คือ การนอนหลับ

การกระทำดังกล่าวนั้น ไม่ใช่การทำดีหรือการทำความชั่ว ไม่ได้ส่งผลออกไปในทางกรรมดี หรือกรรมชั่ว  การกระทำเหล่านี้คือ กรรมอะไร

ประเด็นนี้ หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนไว้ถูกต้องที่สุด และก็มีหลักฐานยืนยันจากพระไตรปิฎก คนอื่นๆ หรือสายปฏิบัติธรรมอื่นไม่ยอมเชื่อกันเท่านั้น

เวลาเราไปงานศพ พระจะสวดบทมาติกา ซึ่งขึ้นต้นด้วยบทว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยาตาธัมมา นั่นก็คือ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมที่เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลาง ไม่ดี ไม่ชั่ว

มโนสัญเจตนาหาร  ได้แก่ การคิดอ่านทางใจ  มโนสัญเจตนาหารนี้เป็นอาหารประมวลมาซึ่งภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ  แล้วแต่เจตนาคือมุ่งไปเกาะภพไหน  เมื่อประกอบถูกส่วนก็ไปสู่ภพนั้น 

เจตนาเป็นตัวกรรม ได้ในบาลีว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว วทามิ  ซึ่งแปลความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวว่าเจตนานั้นเองเป็นตัวกรรม 

คนที่ทำกรรมเป็นกุศล  สุคติภพย่อมคอยท่ารับรองอยู่ และคนที่ทำกรรมเป็นอกุศล ทุคติภพก็ย่อมคอยท่ารับรองเขาอยู่เหมือนกัน

วิญญาณาหาร  วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง  ความรู้แจ้งเป็นอาหารชนิดหนึ่งเหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้เป็นที่รับรองของวิญญาณ

ตรงนี้ขอให้เปรียบเทียบกับคำว่า “วิปัสสนา” ด้วย  “วิ” แปลว่า “แจ้ง”  “ญาณ” แปลว่า “รู้” “ปัสสนา” แปลว่า “เห็น” 

วิญญาณ [วิ + ญาณ] จึงแปลว่า “รู้แจ้ง” เป็นคำกริยา ถ้าจะใช้เป็นคำนามก็คือ “ความรู้แจ้ง”
วิปัสสนา  [วิ + ปัสสนา] จึงแปลว่า “เห็นแจ้ง”

คำว่า “วิญญาณ” ยังมีความหมายอื่นๆ เช่น ในความหมายที่ว่า ใจ-จิต-วิญญาณ เป็นต้น

วิญญาณย่อมมีรสในอารมณ์ ๖ อย่าง  ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งวิญญาณจึงเป็นอาหารประมวลให้เกิดนามรูปได้ในคำว่า  วิญญาณ ปัจจยา นามรูปัง  ซึ่งแปลว่า  วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

สัตว์โลก  ที่ว่าพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกนั้น  คือ พระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งธรรมเป็นที่มาแห่งจิตของสัตว์ทั้งหลาย

สัตว์ทั้งหลายมีอัชฌาสัย  หรือความเห็นต่างๆ กัน  เช่นจำพวกหนึ่งเห็นว่าโลกเที่ยง ไม่มียักเยื้องแปรผัน  และเห็นว่าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อตายไปก็ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อย่างเดิม 

อีกพวกหนึ่งเห็นว่าตายแล้วขาดสูญ หมดสิ้นกันเท่านั้น  ไม่มีอะไรในผู้นั้นจะมาเกิดอีก ทำดี ทำชั่ว ก็สิ้นสุดเพียงวันตาย ไม่มีบุญ ไม่มีบาปจะตามไปสนองในภพหน้าที่ไหนอีก 

อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้ซึ่งความเป็นจริงของโลก  ส่วนพระองค์ทรงรู้แจ้งซึ่งสัตว์โลกว่าไม่เป็นเช่นนั้น

ที่จริงสัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามยถากรรม ทำดี ความดีย่อมติดตามไปสนองในภพหน้า ทำชั่ว ความชั่วย่อมติดตามไปสนองในภพหน้าเป็นเสมือนเงาตามตัว  อันเรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ จึงได้ชื่อว่า โลกวิทู นัยหนึ่ง

ขอให้สังเกตคำนี้ให้ดี  ยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูต แปลว่า “ตามความเป็นจริง”  คำนี้จึงต้องแปลว่า “รู้เห็นตามความเป็นจริง” 

ดังนั้น สายปฏิบัติธรรมใดปฏิเสธ “การเห็น”  หรือใช้ “รู้สึก”  ใช้ “เข้าใจ” แทนเห็น  พวกนั้น กลุ่มนั้น ไม่ได้เข้าใกล้ศาสนาพุทธที่ถูกต้องเลย  ยังห่างไกลอีกมาก

อนุสเย ชานาติ ทรงรู้แจ้งซึ่งอนุสัย ๗ ประการ คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย อวิชชานุสัย

จริตํ ชานาติ  ทรงรู้แจ้งจริตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๖ ประการ คือ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต วิตักกจริต สัทธาจริต พุทธิจริต

อธิมุตฺตึ ชานาติ ทรงรู้แจ้งนิสสัยต่ำสูงและความเป็นผู้มีใจบุญ ความเป็นผู้มีใจบาปแห่งสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้แจ้งซึ่งความมีกิเลสหนาบางแห่งสัตว์ทั้งหลาย

ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ว่าแก่อ่อนอย่างไร กล่าวคือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่าอินทรีย์ ๕ คือ ความเชื่อ ความเพียร สติ สมาธิ และปัญญา แล้วก็ทรงหาอุบายโปรดในเมื่อทรงเห็นว่า อินทรีย์แก่กล้าสมควรแล้ว 

ดังเช่น วักกลิพราหมณ์ เห็นพระองค์มีพระสิริโฉมอันงามชอบเนื้อชอบใจ จนถึงขอบวชเป็นภิกษุ บวชแล้วก็เฝ้ามองดูพระสิริโฉมของพระองค์เป็นเนืองนิจ

พระองค์ก็ทรงรอไว้ ครั้นเมื่อเห็นว่าอินทรีย์แก่กล้าแล้วจึงทรงเริ่มหาอุบายโปรด โดยตรัสว่า วักกลิ ท่านจะมัวมามองดูร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ไย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงจะเห็นเรา

พระวักกลิน้อยใจที่พระองค์ตรัสห้ามเช่นนั้น จึงอำลาจากพระองค์จะไปโดดภูเขาตาย ในเมื่อใกล้โดดพระองค์ได้เปล่งรัศมีให้เห็น ประหนึ่งไปประทับอยู่เฉพาะหน้า

พระวักกลิวิ่งโลดโผเข้าไปในรัศมีของพระองค์ด้วยความปีติเลื่อมใสอันแรงกล้า ก็ได้บรรลุมรรคผลในกาลบัดนั้น สมควรปรารถนาแล้วก็มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ

สฺวากาเร ทฺวากาเร ชานาติ อีกประการหนึ่ง พระองค์ทรงรู้แจ้งว่าสัตว์จำพวกใดมีอาการดี มีอาการชั่ว แก้ไหวหรือไม่ไหว มีสัทธามีปัญญา หรือว่าหาสัทธา หาปัญญามิได้เลย

ภฺพเพ อภพฺเพ ชานาติ ประการหนึ่งทรงรู้ว่า สัตว์จำพวกใดทรงโปรดได้ จำพวกใดทรงโปรดไม่ได้ เช่น สัตว์พวกสัมมาทิฏฐิโปรดได้ จำพวกมิจฉาทิฏฐิโปรดไม่ได้

เท่าที่วิเคราะห์คำเทศน์ของหลวงพ่อในเรื่อง “พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ” มาจนถึงปัจจุบันนี้  ผมขอฟันธงไปเลยว่า

ไม่ว่าใครจะศึกษาศาสนาพุทธมาตลอดชีวิต หรือปฏิบัติธรรมมากี่ปีก็ตาม ไม่สู้กับการอ่านเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำในเรื่อง “พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ” นี้เลย

ใครอยากได้บุญก็เอาไปพิมพ์แจกงานศพ จะได้บุญมากมายมหาศาล ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะ ไม่มีใครฟ้องเรื่องนี้


และถ้าจะเอากันจริงแล้ว คำเทศน์ของหลวงพ่อเป็นสมบัติของมนุษยโลกไปแล้ว ไม่เป็นลิขสิทธิ์ของใคร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น