หน้าเว็บ

พุทธคุณ - อรหัง

ถ้ามีคนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนบอกว่า ตนเองไม่เคยสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณมาก่อนเลยในชีวิต  

คนที่ได้ยินได้ฟัง ก็คงต้องคิดว่าแปลกมา เพราะในโรงเรียนเราจะสวดกันเป็นประจำ บทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณก็คือ บทสวดอิติปิโส ภควาฯ

อย่างไรก็ดี  ถึงแม้เราจะสวดกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ถ้าจะถามว่า เข้าใจความหมายของบทสวดเหล่านี้ หรือไม่  คงหาคนไทยที่จะตอบปัญหานี้ได้ยากมาก

ส่วนใหญ่คนไทยไม่ค่อยจะรู้ความหมายของบทสวดนี้  ผมพยายามอ่านหนังสือมาหลายเล่มแล้ว และขอลงความเห็นว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายความหมายของบทสวดนี้ ได้ดีกว่าท่านอื่นๆ

โดยเหตุดังกล่าว เนื้อหาของบทความชุดนี้ ผมจะนำมาจากคำเทศน์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่อธิบายบทสวดพุทธคุณ ธรรมคุณและสังฆคุณมาเผยแพร่ เพื่อให้เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งว่า วิชาธรรมกายถูกต้องตามพระธรรมกับพระวินัย

ในบทความชุดนี้ ผมจะนำเนื้อหาของหลวงพ่อวัดปากน้ำลงไปเป็นส่วนๆ ถ้าจะมีคำอธิบายเพิ่มเติม ผมจะพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีดำ  ส่วนเนื้อหาของหลวงพ่อวัดปากน้ำจะเป็นตัวอักษรสีน้ำเงิน

คำว่า คุณในที่นี้หมายความว่ากระไร  เมื่อพิเคราะห์ดูตามถ้อยคำในบาลีนี้แล้ว หมายความว่าความดี ความงามที่ควรเทิดทูนเคารพบูชา

ความดีความงามของพระพุทธเจ้า ๙ ประการของพระธรรม ๖ ประการ ของอริยสงฆ์ ๙ ประการตามที่ปรากฏในพระบาลีนี้

จักได้แสดงแต่ละประการเป็นลำดับไปเริ่มต้นพระพุทธคุณก่อนซึ่งตั้งต้นด้วยคำว่า อรหํตลอดจนจบสังฆคุณ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราที่มีพระเกียรติคุณเฟื่องฟูจนเป็นที่เคารพสักการะของมวลเทวดาอินทร์พรหมและมนุษย์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ มิใช่เพราะเหตุที่พระองค์เป็นกษัตริย์แต่เป็นเพราะเหตุอื่น

เหตุอื่นคืออะไร? ก็คือ เหตุที่พระองค์สละราชสมบัติออกบรรพชาประกอบพระมหาวิริยะความเพียรอันแรงกล้าจนได้บรรลุพระโพธิญาณ ณ ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ เมื่อวันวิสาขปุรณมีเพ็ญเดือน ๖ นั้นเอง

พระองค์ได้ตรัสรู้เญยธรรมทั้งปวงในเวลารุ่งอรุณวันนั้น คุณงามความดีของพระองค์ได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้นเป็นลำดับมาจนตราบเข้าเสด็จดับขันธปรินิพพานรวมเป็น ๙ ประการด้วยกัน

อรหํ เป็นพระคุณข้อต้นมีนัยดังจะแสดงต่อไปนี้

อรหํ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นเองพร้อมกับที่พระองค์บรรลุพระโพธิญาณ ยกตัวอย่างเทียบเคียงคล้ายกับชื่อพระราชกุมารีของพระเจ้าปเสนทิโกศลชื่อว่า มัลลิกา

กล่าวคือ วันที่พระนางเธอประสูตินั้น มีดอกมะลิร่วงลงมาจากอากาศในเวลาเกิดพระราชบิดาและพระประยูรญาติถือเอานิมิตดอกมะลินั้น ขนานนามธิดาองค์นั้นว่า มัลลิกาซึ่งแปลว่า พระนางมะลิ

อรหํ เป็นคำที่พวกเรานักปฏิบัติธรรมเชิดชูกันนักหนา ถึงแก่ได้นำมาใช้เป็นบทบริกรรมภาวนาในเมื่อนั่งสมาธิ

ฉะนั้น จึงขอนำมาแปลไว้ในที่นี้ เพื่อได้ซาบซึ้งถึงพระคุณนามข้อนี้ไว้บ้าง แต่การจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้เมื่อคิดเทียบแล้วก็เท่ากับอากาศในปีกนก

กล่าวคือ บรรดาอากาศทั้งหลายในสากลโลกมีมากสุดที่จะคณนา แต่คิดเฉพาะอากาศเท่าที่ปีกนกกระพือขณะที่บินหนหนึ่ง จะมีอากาศอยู่ในระหว่างปีกนกนิดเดียวในจำนวนอากาศทั้งหลาย นี่ฉันใดก็ฉันนั้น

อรหํ แปลสั้นๆ ว่า ไกล ควรเป็นสองนัยอยู่ ไกลหมายความว่า ไกลจากกิเลสหรือว่าพ้นจากกิเลสเสียแล้ว ไกลตรงกันข้ามกับปุถุชนคนเราซึ่งยังอยู่ใกล้ชิด

กิเลสพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องดังแท่งทองชมพูนุท หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ใสเหมือนดวงแก้วอันหาค่ามิได้ สมคำที่ว่า พุทธรัตนะประกอบด้วย ตาทิโน เป็นผู้คงที่ไม่หวั่นไหว

หากจะมีของหอมมาชโลมไล้พระวรกายซีกหนึ่ง และเอาของเหม็นมาชโลมซีกหนึ่งพระหฤทัยของพระองค์ก็ไม่แปรผันยินดียินร้ายประการใด

และเปรียบได้อีกสถานหนึ่งว่า อินฺทขีลูปโม พระทัยมั่นคงดังเสาเขื่อนถึงจะมีพายุมาแต่จตุรทิศก็ไม่คลอน

เมื่อเช่นนี้จึงมีนัยที่แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้ควรคือเป็นผู้ที่เราสมควรจะเทอดจะบูชาไว้เหนือสิ่งทั้งหมด

อรหํ เป็นนามเหตุ พระคุณนามนอกนั้นเป็นนามผลว่า ในด้านภาวนากายนี้ มีซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์  กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์  กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม  กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม

คนเราที่ว่าตายนั้นคือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือกฉะนั้น กายทิพย์ก็หลุดพรากจากกายมนุษย์ไป

การละกิเลสของพระองค์หลุดไปเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กิเลสในกายมนุษย์กายทิพย์กาย รูปพรหมกายอรูปพรหมเป็นลำดับไป

กิเลสในกายมนุษย์ คือ อภิชฌา  พยาบาท  มิจฉาทิฏฐิ
กิเลสในกายทิพย์คือ โลภะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายรูปพรหมคือ ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายอรูปพรหมคือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย

ขอให้สังเกตการณ์บรรยายเรื่องกิเลสของหลวงพ่อวัดปากน้ำ จะเห็นว่าอธิบายได้ดีกว่าพุทธวิชาการหรือนักปริยัติท่านอื่นๆ ซึ่งอธิบายแบบวกไปวนมา แยกความแตกต่างระหว่างกิเลสแต่ละชุดไม่ได้

นอกจากนั้นแล้ว ยังอธิบายการบรรลุเป็นโสดาบันได้ถูกต้องตามพระสูตร เมื่อทั้ง 12 ตัวหมดไป บุคคลผู้นั้นก็จะบรรลุเป็นกายธรรมโคตรภูก่อน ต่อจากนั้นไป จึงจะถึงกายธรรมพระโสดา

กิเลสตัวสุดท้ายก็คือ อวิชชานุสัยอย่าไปจำสับสนกับ อวิชชาตัวสุดท้ายของกายธรรมพระอนาคามี  อวิชชาตัวนั้น ถ้าหมดไป เราจะกลายเป็นพระอรหันต์

ต่อแต่นี้ไป จึงชักเข้าถึงกายหนึ่งคือ กายธรรม หรือเรียกว่า ธรรมกาย เข้าชั้นโคตรภูจิตเรียกว่า โคตรภูบุคคล 

โคตรภูบุคคลนี้ เดินสมาบัติเพ่งอริยสัจสี่เป็นอนุโลมปฏิโลมจน หลุดพ้นจากกิเลส พวกสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วตกศูนย์วับกลับเป็นพระโสดาบัน

เป็นอันว่า พระโสดาบันละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วกายโสดาบันนี้ เดินสมาบัติเพ่งอริยสัจสี่เป็นอนุโลมปฏิโลมต่อไปถึงขีดสุดละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะพยาบาทชั้นหยาบ จึงเลื่อนชั้นขึ้นเป็นสกทาคามี

คำว่า “กิเลส” ในช่วงนี้ หลวงพ่อวัดปากน้ำ หมายถึง สังโยชน์ 10 แล้ว  คำว่า สังโยชน์หรือสัญโยชน์นี้  บางท่านก็ใช้คำว่า “กิเลสสังโยชน์”  ซึ่งก็หมายถึง สิ่งเดียวกัน

กายพระสกทาคามีเดินสมาบัติเพ่งอริยสัจสี่ทำนองเดียวกันนั้นต่อไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะ พยาบาทขั้นละเอียด จึงเลื่อนชั้นเป็นพระอนาคามี

แล้วกายพระอนาคามีเดินสมาบัติเพ่งอริยสัจสี่ทำนองเดียวกันนั้นต่อไปถึงขีด สุดละกิเลสได้อีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จึงเลื่อนขึ้นจากพระอนาคามีเป็นพระอรหันต์

จะเห็นได้ว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำอธิบายเรื่องการกำจัดกิเลสและสังโยชน์จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานได้ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก  ไม่มีผิดเพี้ยน กระจ่างแจ้ง 

ขอให้ไปอ่านหนังสือของพวกพุทธวิชาการกับพวกบ้าปริยัติ ไม่มีใครอธิบายได้ดีเท่าหลวงพ่อวัดปากน้ำอีกแล้ว

จิตของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากกิเลสทั้ง มวลจึงได้พระเนมิตกนามว่า อรหํ

เหตุที่ทำให้พระองค์เป็น อรหํ นั้นสรุปโดยย่อก็ได้แก่การที่พระองค์บำเพ็ญสมาธิเจริญวิปัสสนาด้วยพระมหาปธานวิริยะอันแรงกล้า ณ โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ในวันวิสาขปุรณมีนั้น

ตรงนี้ขอให้พิจารณาข้อความที่ว่า บำเพ็ญสมาธิเจริญวิปัสสนาซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำจะกล่าวโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า 

ผมขอยืนยันไปก่อนเลยว่า ไม่มีใครเข้าใจเกี่ยวกับคำชุด วิปัสสนาได้ดีกว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำอีกแล้ว

คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน, วิปัสสนาญาณ และวิปัสสนา นั้น ความหมายไม่เหมือนกัน  ไม่ใช่ คำไวพจน์อย่างที่นักปริยัติเข้าใจ 

โดยความเด็ดเดี่ยวตั้งพระหฤทัยอธิษฐานว่าแม้เนื้อและ เลือดในพระสรีระของพระองค์จะเหือดแห้งเหลือแต่เส้นเอ็นหนังและกระดูกก็ตาม ทีเถิดหากไม่ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณตราบใดพระองค์จะไม่ยอมลุกจากที่นั้นเป็นอันขาด

แล้วพระองค์ก็ทรงนั่งสมาธิรุดไปด้วยน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยว ในที่สุดก็ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณสม ดังพระประสงค์ในราตรีกาลแห่งวันวิสาขปุรณมีนั้นเอง

ยามต้น ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสติญาณความหยั่งรู้ระลึกชาติหนหลังได้
ยามที่ ๒ ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณความหยั่งรู้ถึงความจุติและความเกิด
ยามที่ ๓ ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณความหยั่งรู้ที่กำจัดอาสวะกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิตให้หมด สิ้นไปทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งหมดเห็นจริงๆ

เห็นด้วยตาของธรรมกายไม่ใช่เห็นด้วยตามนุษย์ หรือคิดคาดคะเนเอาเห็นตลอดทั่วโลกมนุษย์โลกสวรรค์โลกนรก เพราะพระองค์ได้ผ่านพ้นโลกเสด็จออกสู่แดนพระนิพพานแล้วจึงเห็นได้ทั่วถ้วนโดยมิสงสัย

ตรงนี้ขอสรุปก่อนเลยว่า วิชชาสามนั้นเป็น เหตุจำเป็นของการบรรลุมรรคผลนิพพาน และปัจจัยสำคัญของวิชชาสามก็คือ ต้อง เห็นและ รู้ไปพร้อมๆ กัน

ถ้าจะอธิบายกันอย่างเอาจริงเอาจังก็ต้องว่า พระพุทธเจ้า เห็นก่อนจึง รู้แต่ถ้าอธิบายพอให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็ พระพุทธเจ้า เห็นกับ รู้พร้อมๆ กัน 

คำว่า เหตุจำเป็นนั้น หมายถึงว่า ขาดไม่ได้  การบรรลุมรรคผลนิพพานจะไม่ผ่านวิชชาสามไม่ได้ แต่วิชชาสามอย่างเดียว ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้


จะต้องมีเหตุอื่นมาประกอบด้วย  เหตุทุกเหตุที่ทำให้การบรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จลงได้  เราจะเรียกเหตุทั้งหมดนั้นว่า เหตุเพียงพอ” 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น